ข่าวสารและกิจกรรม
ข่าวความรับผิดชอบต่อสังคม

เดลต้าเปิด 'โคเวิร์คกิ้งสเปซวิศวกรรมนวัตกรรม’ ณ พระจอมเกล้าลาดกระบัง พร้อมมอบอุปกรณ์ห้องแล็บระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติ

กรุงเทพฯ 23 พฤศจิกายน 2563 – บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) เปิดโคเวิร์คกิ้งสเปซแห่งใหม่ สร้างความร่วมมือและการเรียนรู้ด้านวิศวกรรมนวัตกรรม ณ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (พระจอมเกล้าลาดกระบัง หรือ สจล.) พร้อมมอบหุ่นยนต์ อุปกรณ์สำหรับระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติ และจอสัมผัสอัจฉริยะ ให้แก่ห้องแล็บระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติของเดลต้า (Delta Industrial Automation Lab) ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ พระจอมเกล้าลาดกระบัง

นายแจ็คกี้ จาง ประธานบริหาร เดลต้า ประเทศไทย และ รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ร่วมทำพิธีเปิดโคเวิร์คกิ้งสเปซแห่งใหม่อย่างเป็นทางการ พร้อมทีมผู้บริหารเดลต้าที่ร่วมสาธิตการใช้งานและมอบเครื่องมืออุปกรณ์ห้องแล็บแก่คณาจารย์และนักศึกษาพระจอมเกล้าลาดกระบัง โดยเดลต้ายังได้มอบหุ่นยนต์แขนกลหกแกน (Six-axis articulated robot) ที่ทางเดลต้าพัฒนาขึ้น พร้อมหัวขับรุ่นใหม่ (Actuator) และจอสัมผัสอัจฉริยะขนาดใหญ่ NovoTouch ให้แก่ห้องแล็บระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรมของเดลต้า ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ พระจอมเกล้าลาดกระบัง

เดลต้าให้การสนับสนุนโคเวิร์คกิ้งสเปซแห่งใหม่เพื่อใช้เป็นพื้นที่การเรียนรู้และร่วมมือกันของนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการในไทย เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมในประเทศและส่งต่อความเชี่ยวชาญด้านระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรม โดยโคเวิร์คกิ้งสเปซนี้เป็นพื้นที่ความร่วมมือแห่งใหม่เพิ่มเติมจากห้องแล็บระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรมของเดลต้า ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่เปิดให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะด้านหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ IoT อิเล็กทรอนิกส์ และพาวเวอร์กำลังไฟฟ้าในระบบ

ภายในงาน นายแจ็คกี้ จาง ได้กล่าวว่า “เดลต้าภูมิใจที่ได้บุกเบิกและต่อยอดการพัฒนาการศึกษาด้านระบบอัตโนมัติในระดับอุดมศึกษาของไทย วันนี้เราขยายความร่วมมืออันแข็งแกร่งกับ สจล. ด้วยการเปิดโคเวิร์คกิ้งสเปซแห่งใหม่ และมอบอุปกรณ์ขั้นสูงล่าสุดเพื่อใช้ในห้องแล็บระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรมของเดลต้าที่ตั้งอยู่ที่นี่ เดลต้าหวังว่าจะได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ นอกจาก สจล. เพื่อส่งเสริมผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมในรุ่นต่อไปของไทย ซึ่งจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน”

ที่ผ่านมา มีนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์กว่า 1,000 คนได้ผ่านการฝึกอบรมในโครงการเดลต้าออโตเมชั่น อะคาเดมี (Delta Automation Academy) และเดลต้าได้จัดตั้งห้องแล็บแห่งอนาคตด้านระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรม ณ มหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยแล้วหลายแห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี


26 พ.ย. 2563