ข่าวสารและกิจกรรม
Blog & eBook

การปรับใช้และสร้างทักษะเฉพาะทางเพื่อเป็นผู้นำ: เคล็ดลับสู่ความสำเร็จสูงสุด ของผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาของเดลต้า ประเทศไทย

Delta Thailand RnD Director

สมุทรปราการ ประเทศไทย 5 ตุลาคม 2565 – ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เดลต้ามีทีมวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์พาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกที่ผลักดันขอบเขตของประสิทธิภาพการทำงาน ที่นี่เดลต้า ประเทศไทย ได้มอบโอกาสให้ผู้มีความสามารถด้านวิศวกรรมชาวไทยที่มีความมุ่งมั่นและมีทักษะในการทำงานในด้าน “วิจัยและพัฒนาที่แท้จริง” อย่างเช่น การทดสอบหรือการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์โดยใช้ข้อมูลจากพื้นที่ท้องถิ่น

ผมได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับ CH Lim ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา มากประสบการณ์ของเราที่แผนก R&D ของเดลต้า ประเทศไทย ซึ่งเราได้พูดคุยเกี่ยวกับเส้นทางอาชีพของเขาในไต้หวันและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงวิวัฒนาการของอุตสาหกรรมพาวเวอร์ซัพพลาย นอกจากนี้ เขายังได้เปิดเผยเคล็ดลับในการดูแลและจัดการทีม R&D ซึ่งเป็นทีมที่ได้รับสิทธิบัตรในประเทศไทย รวมถึงการใช้ชีวิตในต่างประเทศในฐานะผู้นำทางปัญญาของเดลต้า

คุณช่วยเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับภูมิหลังของคุณได้หรือไม่

ผมเป็นคนมาเลเซียมาจากเมืองไทปิง รัฐเประ ในปี 2535 ผมสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกุงในไต้หวัน และเริ่มทำงานในบริษัทเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวันที่ผลิตมัลติมิเตอร์สำหรับห้องปฏิบัติการ พาวเวอร์ซัพพลายสำหรับห้องปฏิบัติการ ฟังก์ชั่นเจนเนอเรเตอร์ และออสซิลโลสโคป หลังจากนั้นหนึ่งปี ผมย้ายไปทำงานที่โรงงานในปีนัง ประเทศมาเลเซีย ที่นั้นผมต้องรับผิดชอบทั้งด้านคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์และการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นเวลาสองปีเพื่อสร้างพื้นฐานด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่มั่นคง

ในปี 2537 ผมได้อ่านบทความที่แนะนำเกี่ยวกับพาวเวอร์ซัพพลายแบบสวิตชิ่งชนิดใหม่ที่ทำงานด้วยความถี่ที่สูงกว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่ในสมัยนั้น ซึ่งสามารถลดขนาดอุปกรณ์ลงมากกว่าครึ่งหนึ่งและเพิ่มประสิทธิภาพ 20% จาก 50%+ เป็น 70%+ ในตอนนั้น เรายังต้องการหม้อแปลงไฟฟ้าและตัวเก็บประจุขนาดใหญ่สำหรับความถี่ทั่วไปที่ 50/60Hz เพราะเราไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอย่าง MOSFET ที่เราใช้กันในปัจจุบันมามากกว่า 20 ปี

หลังจากนั้น ผมก็ตัดสินใจเปลี่ยนสายการทำงานมาเป็นพาวเวอร์ซัพพลายแบบสวิตชิ่ง เพราะผมเชื่อว่าสิ่งนี้คืออนาคต และผมได้เข้าทำงานกับบริษัทไต้หวันในบ้านเกิดซึ่งเป็นผู้ผลิตพาวเวอร์ซัพพลายแบบสวิตชิ่ง เป็นเวลากว่าสี่ปีที่ผมรับผิดชอบดูแลทีมวิศวกรทั้งหมด รวมถึงวิศวกรผลิตภัณฑ์ วิศวกรการทดสอบ วิศวกรอุตสาหกรรมและวิศวกรโรงงาน และแม้แต่ช่างเทคนิคที่ทำหน้าที่ซ่อมแซมเครื่องจักรต่าง ๆ จากนั้นในปี 2540 การผลิตจำนวนมากได้เริ่มย้ายไปยังประเทศจีน ผมรู้สึกว่าการวิจัยและพัฒนามีคุณค่ามากกว่านั้น และตัดสินใจที่จะเปลี่ยนสาขาการทำงาน แม้ว่าผมจะไม่มีประสบการณ์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ก็ตาม

ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมทีม R&D ที่ Emerson (บริษัทในกลุ่ม Nortel) ผมทำงานเพื่อขยายทีม R&D อยู่ที่นั่นเป็นเวลาสองปีก่อนที่จะเกิดวิกฤติ dot.com เมื่อ Nortel ยุติการให้บริการในปีนัง ผมมีอยู่สองทางเลือก คือ 1. ทำงานอยู่ในมาเลเซียต่อไป แต่ต้องเปลี่ยนสายงาน หรือ 2. เข้าทำงานกับบริษัทผู้ผลิตพาวเวอร์ซัพพลายแบบสวิตชิ่งต่อไป แต่ต้องทำงานในต่างประเทศในฐานะชาวต่างชาติ

คุณก้าวมาสู่ตำแหน่งปัจจุบันในฐานะหัวหน้าฝ่ายออกแบบ CDBU ของเดลต้า ประเทศไทยได้อย่างไร

Delta Thailand Research

ผมมีหลายตัวเลือก (บริษัท) ในเอเชียและสุดท้ายผมก็เลือกที่จะเข้าทำงานกับเดลต้า ประเทศไทย ในปี 2544 Stronger Wang ซีโอโอของเราในตอนนั้นเป็นคนสัมภาษณ์ผมและต้องการให้ผมเข้าร่วมกับทีมฝ่ายผลิตเนื่องจากประสบการณ์การทำงานของผม แต่ผมยืนยันที่ทำงานในทีม R&D ผมได้บอกกับเขาว่าผมตั้งใจจะทำงานที่ประเทศไทยแค่ห้าปี แต่เขาแนะนำให้ผมพิจารณาถึงการทำงานในระยะยาวที่นี่ และตอนนี้ผมก็ทำงานที่นี่มากว่า 20 ปีแล้ว เห็นได้ชัดเลยว่ามีอะไรบางอย่างดี ๆ ที่นี่

เมื่อก่อนทีม R&D ของเดลต้าประเทศไทยเป็นทีมออกแบบที่มีวิศวกรมากกว่า 200 คน ซึ่งคอยออกแบบให้กับแต่ละ BU ผมเข้าทำงานในฐานะหัวหน้าแผนกของทีมออกแบบที่สร้างโมดูลควบคุมแรงดันไฟฟ้า (VRM) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่นิยมอย่างมากในขณะนั้น ซีพียู Pentium 3-4 ในขณะนั้นเร็วกว่าและใช้กระแสไฟมากกว่า ดังนั้นผู้ผลิตจึงไม่สามารถใส่ลงในเมนบอร์ดได้โดยตรงและต้องสร้างโมดูลแยกต่างหาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นและการออกแบบ CPU ที่มีหลายคอร์ จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ VRM ถูกเลิกใช้และได้รวมซีพียูเข้ากับเมนบอร์ดแทน

ในปี 2551 ผมได้เริ่มโฟกัสไปที่ผลิตภัณฑ์ Custom Design Power (CDBU) ของเรา หลังจากนั้นทีมออกแบบหลักของเรากระจายข้อมูลไปยังทีมออกแบบแต่ละทีมและรายงานโดยตรงไปยัง BU หลายปีที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ของเราเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปตามตลาด ผมยังคงทำงานร่วมกับทีมอุตสาหกรรมและการแพทย์ (IMBU) ของเราที่ Teningen ประเทศเยอรมนี เมื่อปีที่แล้ว Sherry Xue หัวหน้า DET CDBU ของเราได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองหัวหน้า BG ในไต้หวัน ตั้งแต่นั้นมา ขอบเขตการทำงานของผมก็ขยายเพิ่มเติมจนครอบคลุมทั้ง QE (วิศวกรรมคุณภาพ), TE (วิศวกรรทดสอบ), CE (วิศวกรรมชิ้นส่วน) และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์

ขอแสดงความยินดีกับสิทธิบัตรระหว่างประเทศที่คุณและทีมของคุณได้รับ และช่วยเล่าให้เราฟังหน่อยได้ไหมว่า DET R&D กลายมาเป็นเสาหลักของความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับโลกของเดลต้าได้อย่างไร

Delta Engineer Patent

เดลต้า ประเทศไทย เป็นบริษัทข้ามชาติที่มีทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นเลิศ และมีทีมกฎหมายรวมถึงสิทธิบัตรที่มีประสิทธิภาพในไต้หวัน ซึ่งเรามักจะมองหาวิธีการในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ของเราอยู่เสมอ เนื่องจากพาวเวอร์ซัพพลายแบบสวิตชิ่งของเดลต้านำหน้าตลาดไปไกลมาก โดยสิทธิบัตรเหล่านี้จะปกป้องเราโดย:

การป้องกันไม่ให้คู่แข่งใช้เทคโนโลยีของเราในการพัฒนาหรือผลิตสินค้าเพื่อนำเข้า/ส่งออก
การปกปิดเจตนาในการขายเพื่อไม่ให้คู่แข่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนด้วยเทคโนโลยีของเราที่จดสิทธิบัตร
ตั้งแต่ปี 2556 ผมได้ทำงานร่วมกับทีมของบริษัทในไต้หวันเพื่อขอสิทธิบัตรสำหรับสิ่งประดิษฐ์ทางเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานได้กับผลิตภัณฑ์หลายชนิด บริษัทมีทีมวิศวกรสิทธิบัตรและนักกฎหมายที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิทธิบัตร โดยเดลต้า ประเทศไทย จะยื่นขอสิทธิบัตรประมาณ 3-5 กลุ่มต่อปี และเราไปรับกลุ่มสิทธิบัตรแล้วจำนวน 40-50 กลุ่ม และสิทธิบัตรเฉพาะสำหรับ DET CDBU, Industrial Power Supplies (IPS), Computing and Networking (CN) BUs และการผลิต จำนวน 150 สิทธิบัตร

เรามีแนวทางในเรื่องของสิทธิบัตรและเครื่องมือออนไลน์สำหรับใช้งานและมีการสร้างแรงจูงใจที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนให้ทุกคนในทีมมีส่วนร่วม โดยแต่ละทีมสิทธิบัตรจะได้รับเงิน 30,000 บาท จากการจดสิทธิบัตรแรก และรับ 10,000 บาท สำหรับสิทธิบัตรที่ 2 หรือสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถสะสมไปจะถึง 90,000 บาทได้ นอกจากนี้ คุณยังสามารถรับเงินสูงถึง 9,000 บาท หากสามารถยื่นขอสิทธิบัตรได้สำเร็จ

อะไรคือข้อได้เปรียบด้านการวิจัยและพัฒนาของเดลต้า ประเทศไทย เมื่อเทียบกับการวิจัยและพัฒนาของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกอื่นๆ ในประเทศ

Delta Research Development Strength

แม้ว่าบริษัทอิเล็กทรอนิกส์หลายแห่งในประเทศไทยอ้างว่ามีการวิจัยและพัฒนาแต่ในความเป็นจริงแล้วงาน “วิจัยและพัฒนา” ส่วนใหญ่เป็นเพียงการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ (NPI) ซึ่งนำการออกแบบผลิตภัณฑ์จากสำนักงานใหญ่ทั่วโลกมาสู่การผลิตในท้องถิ่น เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านบทบาทและขอบเขตของ R&D ในท้องถิ่น แผนกต่าง ๆ ในหลายบริษัทจึงยังไม่มีโครงสร้างที่สมบูรณ์พร้อมฟังก์ชันการดำเนินงานแบบเต็มรูปแบบ

ในทางตรงกันข้ามเดลต้าประเทศไทยเป็นศูนย์ R&D ในท้องถิ่นที่มีฟังก์ชันการดำเนินงานแบบเต็มรูปแบบมาตั้งแต่ปี 2538 และเรามีความสัมพันธ์อันดีกับศูนย์ R&D ของเดลต้าซึ่งตั้งอยู่ในประเทศต่าง ๆ ดังนั้น เราจึงสามารถจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ดีได้มากกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ในประเทศไทย

นอกจากนี้ เรายังมีเครือข่ายทั่วโลก ดังนั้น วิศวกรรุ่นใหม่ชาวไทยของเราสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานทั้งในเยอรมนี จีน และแม้แต่ห้องปฏิบัติการวิจัยระดับโลกของเราได้อย่างง่ายดาย ซึ่งมีการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์และทันสมัยมากมาย หาได้ไม่ง่ายนักจากบริษัทอื่น ๆ ในประเทศไทย

คุณช่วยเล่าเกี่ยวกับแนวคิดทั่วไปของกระบวนการหรือขั้นตอนที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาของเดลต้า ประเทศไทย ให้เราฟังหน่อยได้ไหม

ตอนที่ผมเริ่มต้นอาชีพในสายงานเมื่อ 20 ปีก่อน กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยทั่วไปมีห้าขั้นตอน ดังนี้

เบรดบอร์ดดิ้ง: การใช้วงจรรวม IC และการทดสอบเพื่อพิสูจน์ทฤษฎี
การสร้างต้นแบบ: การสร้างแบบจำลองที่สมบูรณ์ ดำเนินการในตอนที่เราเห็นความเป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์
การทดสอบยืนยันทางอิเล็กทรอนิกส์ (EVT): การทดสอบเพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ตรงตามข้อกำหนดด้านฟังก์ชันการทำงาน
การทดสอบยืนยันด้านการออกแบบ (DVT): การทดสอบเพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์เป็นไปตามข้อกำหนดภายใต้ปัจจัยแวดล้อมที่มีอิทธิพลทั้งหมดและมาตรฐานความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) และรับรองผลิตภัณฑ์ตามข้อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย
ระยะนำร่อง: การทดลองผลิต
แต่ในปัจจุบัน เราสามารถข้ามขั้นตอนที่ 1-2 และข้ามไปที่การทดสอบยืนยันทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เลย เพราะเราได้ใช้เทคโนโลยีการจำลองสถานการณ์ตั้งแต่ขั้นตอนแรกก่อนที่เราจะทำตามข้อกำหนดของลูกค้าเพื่อสร้างต้นแบบสำหรับการตรวจสอบ ตอนนี้เรามีการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นแพลตฟอร์มของเราเพื่อแนะนำลูกค้าและข้ามไปที่ EVT โดยที่ไม่ต้องสร้างต้นแบบ

เรามีความรู้มากพอเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและตลาดของเราเพื่อที่จะก้าวไปข้างหน้าและนำเสนอผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าของเรา ดังนั้น เทคโนโลยีการจำลองสถานการณ์จึงเป็นการพัฒนาที่สำคัญมากและยังเป็นอนาคตของการวิจัยและพัฒนาอีกด้วย

คุณคิดว่าคุณสมบัติที่สำคัญของวิศวกร R&D คืออะไร

Delta Engineering Qualification

การที่ผมจะรับคนเข้ามาทำงานนั้น ผมจะมองหาวิศวกรที่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมของเราตั้งแต่พาวเวอร์ซัพพลายแบบสวิตชิ่งไปจนถึงพลังงานหมุนเวียน เราต้องการคนที่กระตือรือร้นมาเพื่อเป็นแถวหน้า เพราะถ้าหยุดแม้เพียง 1-2 ปี ทุกอย่างที่ทำมาก็อาจสูญเปล่าได้ วิศวกร R&D ชั้นยอดต้องอยู่ในเซสชั่นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะเวลาทำงานเท่านั้น

แน่นอนว่าวิศวกร R&D ที่ดีต้องมีแนวคิดทางธุรกิจที่ดีด้วย จำไว้ว่าผลิตภัณฑ์ไม่ใช่ของเล่นของคุณที่จะเล่นและไม่สนใจที่จะสร้างประโยชน์ใด ๆ ได้ งานทั้งหมดของเราเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท และเราจำเป็นต้องมีกรอบความคิดในการเพิ่มมูลค่าให้กับลูกค้า

คุณคือหัวหน้าทีมวิศวกรที่ยอดเยี่ยมซึ่งได้รับสิทธิบัตรมากมาย คุณมีวิธีที่ส่งเสริมและช่วยให้ผู้อื่นที่สนใจในสายอาชีพนี้ มีความกระตือรือร้นและมีความสามารถในการเติบโตในสายอาชีพนี้ได้อย่างไร

มีอยู่สองวิธีที่วิศวกร R&D จะสามารถพัฒนาอาชีพของตนได้ วิธีแรกคือในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคที่ต้องเจอกับความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่เสมอ ตราบใดที่พวกเขายังคงพัฒนาตนเอง พวกเขาก็จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับทักษะเฉพาะทางของตนและยังสามารถรับผิดชอบหน่วยธุรกิจได้อีกด้วย วิศวกรออกแบบสามารถทำงานได้มากขึ้นในการจำลองการออกแบบ และตอนนี้วิศวกรวิเคราะห์และทดสอบเสมือนจริงสามารถเปลี่ยนไปทำการทดสอบแบบอัตโนมัติและการทดสอบการตรวจสอบเสมือนจริง

เส้นทางอาชีพที่สองคือการเป็นผู้จัดการ R&D ซึ่งต้องใช้ทักษะการจัดการผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมและความสามารถในการจัดการความต้องการของทีมวิศวกร 20-30 คนอย่างมีประสิทธิภาพ เราสามารถพัฒนาบุคลากรด้วยชุดความคิดและทักษะกว้าง ๆ นี้เพื่อเป็นหัวหน้าส่วนงานหรือหัวหน้าแผนกได้

การวิจัยและพัฒนาของเดลต้า ประเทศไทย ยังคงสามารถแข่งขันได้ในระดับโลกและดึงดูดผู้ที่มีความสามารถด้านวิศวกรรมไฟฟ้าที่เก่งที่สุดในภูมิภาคเอเชียที่มีการแข่งขันสูงได้อย่างไร

electrical engineering talents

ในฐานะทีม R&D ระดับโลกในประเทศไทย เราต้องช่วยวิศวกรของเราปรับใช้งานของพวกเขาให้เข้ากับการใช้งานจริงและความอ่อนไหวทางธุรกิจ ซึ่งรวมถึงวิธีประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของผลิตภัณฑ์ นอกจากพลังงานสีเขียวแล้ว เรายังมุ่งไปที่การจำลองสถานการณ์ (Simulation) โดยใช้ Delta Smart Design โดยมีเป้าหมายสูงสุดในการผลิต Digital Twin

มหาวิทยาลัยในไทยเพิ่งสัมผัสกับเทคโนโลยีล่าสุด แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับตลาดโลก เราจึงจัดตั้งทีมเพื่อช่วยให้ผู้มีความสามารถหน้าใหม่เรียนรู้การจำลองสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมสังเกตได้ว่านักศึกษาจบใหม่จำนวนมากที่เราสัมภาษณ์มีทักษะและความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ ๆ

นอกจากเรื่องงานคุณชอบทำอะไร และ คุณมีเคล็ดลับในการสนุกกับชีวิตการทำงานในต่างประเทศหรือไม่ อย่างไรบ้าง

CH

นอกจากงานแล้ว ครอบครัวของผมยังเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของความสำเร็จอีกด้วย ครอบครัวของผมย้ายกลับไปที่มาเลเซียเพื่อให้ลูก ๆ ได้มีโอกาสเรียนหลาย ๆ ภาษา แต่เรายังคงใช้เวลาร่วมกันมากเหมือนเดิม ดังนั้น ผมจะไม่พลาดทุกเสี้ยววินาทีของการเติบโตของพวกเขา ก่อนโควิดระบาด ผมบินไปเยี่ยมครอบครัวทุก 3-4 สัปดาห์ ด้วยสายการบินราคาประหยัดซึ่งมีค่าโดยสารเพียง 3,000 บาท เมื่อก่อนเราต้องโทรออกต่างประเทศ แต่ตอนนี้ผมสามารถเปิด Skype ได้ทุกเมื่อเมื่อผมกลับถึงบ้านเพื่อพูดคุยกับครอบครัวตลอดช่วงเย็น

ผมเคยทบทวนการบ้านกับลูก ๆ ออนไลน์ในช่วงสุดสัปดาห์เพื่อให้ความสัมพันธ์ของพวกเรายังคงแนบแน่น อย่างตอนนี้ลูกคนเล็กของผมจะกำลังจะเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ดังนั้นคุณภาพชีวิตคู่ของเราก็ต้องจะพัฒนาขึ้นไปอีก ทุกปีผมจะจัดทริปไปต่างประเทศกับครอบครัวเพื่อใช้เวลาร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยส่วนตัวแล้วผมไม่รู้สึกลำบากใจที่จะต้องมาอยู่ไกลครอบครัว อันที่จริงประสบการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่างหนึ่งต่อตัวเองและเพื่อนร่วมงานชาวต่างชาติที่แต่งงานแล้วคนอื่น ๆ ก็คือ จู่ ๆ พวกเราก็มีเวลาว่างส่วนตัวเพื่อจดจ่อกับโครงการหรืองานวิจัยของเราเอง

สุดท้ายนี้ มีอะไรที่คุณอยากแบ่งปันกับเพื่อนร่วมงานชาวเดลต้าทั่วโลกหรือไม่

สามปีที่ผ่านมากับโควิดทำให้วิถีชีวิตและการทำงานของเราเปลี่ยนไป แต่ผมหวังว่าทุกคนจะยังดูแลสุขภาพของตนเองให้ปลอดภัยอยู่เสมอ

จากการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อน ๆ ทำให้รู้ว่าคนส่วนใหญ่ที่คิดบวกและตอบสนองอย่างรวดเร็วสามารถเลือกเส้นทางที่ถูกต้องได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ลังเลที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองในภายหลังอาจพบว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ค่อยดีนัก ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่จะใช้ทักษะของคุณเพื่อบรรลุศักยภาพสูงสุด

คนรุ่นต่อไปมีความท้าทายใหม่ ๆ มากมายที่เราไม่เคยเผชิญมาก่อนรออยู่ เช่น การจำลองสถานการณ์ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ดังนั้น เราต้องเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและปรับใช้ในเชิงรุกเพื่อสร้างทักษะที่เหมาะสมสำหรับความสำเร็จของคุณในวันนี้และในอนาคต

 


22 ธ.ค. 2565