ข่าวสารและกิจกรรม
Blog & eBook

เรียนรู้การทำงานด้านวิศวกรรมและบทบาทความเป็นผู้นำกับโครงการ Delta International Exchange Program

Delta Internship

กรุงเทพฯ ประเทศไทย วันที่ 28 กันยายน 2565 – คนไทยหลายคนอาจไม่ทราบว่ามหาวิทยาลัยในไต้หวันและบริษัทเดลต้าได้มอบโอกาสทางการศึกษาและการทำงานอย่างมากมาย เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย เป็นบริษัทต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย โดยมีบริษัทแม่ในไต้หวัน สำหรับโครงการ Delta International Exchange ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาไทยได้รับโอกาสในการฝึกงานระดับโลกในประเทศไทยหรือไต้หวัน

แม้ว่าข้อจำกัดด้านการเดินทางเนื่องจากโควิด-19 ทำให้นักศึกษาไม่สามารถเดินทางไปฝึกงานในต่างประเทศได้ แต่โครงการฝึกงานประจำปี 2565 ของเดลต้ายังสามารถมอบการเรียนรู้และการฝึกปฏิบัติงานได้ ในสภาพแวดล้อมการทำงานระหว่างประเทศที่โรงงานเดลต้าในประเทศไทย วันนี้เราได้พูดคุยกับนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ชาวไทยที่มีความสามารถและเป็นกันเอง 2 คน คือ ลักษิกา โล่พันธุ์ศิริกุล และ กุลชา กลั่นกลิ่น (จากซ้ายไปขวาในรูปด้านบน) เกี่ยวกับประสบการณ์โครงการ Delta International Exchange Program ของเดลต้า ประเทศไทย

ช่วยเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับตัวคุณสักเล็กน้อย ว่าคุณมาจากที่ไหน คุณกำลังเรียนอะไรอยู่ และทำไมคุณถึงเลือกเรียนคณะ/สาขานี้

ลักษิกา: ฉันมาจากกรุงเทพฯ และเรียนอยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) วิชาเอกคือวิศวกรรมไฟฟ้า เชี่ยวชาญด้านพลังงานหมุนเวียน จริง ๆ แล้วฉันเรียนจบตั้งแต่เดือนสิงหาคม แต่เนื่องจากโควิด-19 ทำให้การฝึกงานล่าช้าจากกำหนดเดิม

ฉันค้นพบว่าวิศวกรรมไฟฟ้าเป็นสาขาอาชีพที่น่าสนใจเพราะเป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีหลาย ๆ ด้าน ดังนั้น ถ้าฉันเชี่ยวชาญด้านนี้จริง ๆ ก็อาจเป็นประโยชน์สำหรับการทำงานในอนาคต ฉันคิดว่าพลังงานหมุนเวียนเป็นแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

กุลชา: ฉันมาจากเชียงใหม่และเป็นนักศึกษาปีสี่ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง (NCKU) เดิมทีฉันเข้าเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ประเทศไทย แต่หลังจากได้รับทุนการศึกษา ฉันก็ได้เข้าเรียนในหลักสูตรนานาชาติของ NCKU ในเมืองไถหนาน ประเทศไต้หวัน ซึ่งฉันค่อนข้างคุ้นเคยกับประเทศนี้อยู่แล้วเพราะพ่อเลี้ยงของฉันเป็นชาวไต้หวันและตอนเด็ก ๆ ฉันก็เคยเดินทางไปที่ไต้หวันหลายครั้ง

อาจารย์ชาวไต้หวันของฉันเป็นมืออาชีพมากและภาษาอังกฤษของพวกเขาก็ดีมาก ๆ ไต้หวันคล้ายกับประเทศไทยมากในแง่ของสภาพอากาศและค่าครองชีพ และที่นั้นก็หาอาหารไทยทานได้ง่ายเหมือนกัน เมืองต่าง ๆ เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่ปัญหาเดียวคือเรื่องภาษา ซึ่งฉันได้ลงเรียนหลักสูตรภาษาจีนแบบเร่งรัดเป็นเมื่อเดินทางไปถึง

ฉันเลือกเรียนวิชาเอกวิศวกรรมพลังงานเพราะในทศวรรษหน้า เพราะฉันเชื่อว่าพลังงานทางเลือกจะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในชีวิตของเรา ดังนั้น ฉันหวังว่าฉันจะสามารถนำสิ่งที่ฉันได้เรียนรู้ไปใช้เพื่อพัฒนาพลังงานสีเขียวสำหรับคนรุ่นต่อไป

คุณรู้จักโครงการ Delta International Exchange ได้อย่างไร และทำไมคุณถึงเข้าร่วมโครงการนี้

Intern

 

กุลชา: ฉันได้อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ Delta x NCKU Butterfly ผ่านอีเมลของโรงเรียนเป็นครั้งแรก จากนั้นเดลต้าก็ได้มาที่มหาวิทยาลัยของฉันในไต้หวันและฝ่ายทางทรัพยากรบุคคลเองก็ได้แนะนำบริษัทให้ฟัง ฉันจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้เพราะฉันอยากประกอบอาชีพนี้ในอนาคตและต้องการนำความรู้ทางวิชาการไปปรับใช้ในการปฏิบัติจริง และเดลต้าเองก็เป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตซึ่งสามารถมอบโอกาสให้กับฉันในการบรรลุความตั้งใจเหล่านี้ได้

ลักษิกา: ฉันรู้จักโครงการนี้จากเพื่อนที่เคยฝึกงานที่เดลต้ามาก่อน ฉันตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้เพราะเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมพาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น ฉันเชื่อว่าฉันจะได้รับประสบการณ์อันมีค่าจากบริษัทนี้ ซึ่งฉันได้สมัครโครงการนี้ผ่านเว็บไซต์ของเดลต้าตอนที่ฉันอยู่ปีสี่

คุณจะต้องฝึกงานที่เดลต้านานแค่ไหน?

ลักษิกา: ฉันฝึกงานที่เดลต้าเป็นเวลาสี่เดือนตั้งแต่มิถุนายนถึงกันยายน 2565 ฉันฝึกที่โรงงานเดลต้า 5 CDBU R&D และอยู่ในทีมทดสอบสำหรับผลิตภัณฑ์พาวเวอร์ซัพพลายที่เราได้พัฒนาขึ้น

กุลชา: ฉันฝึกงานเป็นเวลาสองเดือนตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. – 30 ก.ย. 2565 โดยจะฝึกอยู่ที่โรงงานเดลต้า 5 CIS BU ที่ทำงานกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของเดลต้า

หน้าที่หลักของคุณในฐานะนักศึกษาฝึกงานที่เดลต้าประเทศไทยคืออะไร และส่วนใดของงานที่มีความน่าสนใจมากที่สุด

ลักษิกา: หน้าที่หลักของฉันในทีมทดสอบคือการทำงานในโครงการตรวจสอบแบบเรียลไทม์ซึ่งเราตรวจสอบค่าต่าง ๆ ในการทดสอบระบบอัตโนมัติ เช่น แรงดันไฟ กระแสไฟ ความถี่ของอินพุตและเอาต์พุต ส่วนที่น่าสนใจที่สุดของงานนี้ก็คือ ภาษาเขียนโปรแกรมที่เราเรียกกันว่า C# เพราะเป็นภาษาที่ฉันไม่เคยใช้มาก่อน

ฉันใช้เวลาเรียนรู้โครงสร้างของ C# และพยายามปรับให้เข้ากับรูปแบบการทำงานของทีม หัวหน้างานสอนฉันและฉันก็เรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการค้นหาบน Google หรือดูจากวิดีโอ YouTube อย่างน้อยที่สุดฉันต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าส่วนที่ฉันรับผิดของนั้นเสร็จสมบูนณ์แล้ว แต่งานของฉันไม่สามารถแล้วเสร็จได้ เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำจากหัวหน้างาน นั่นเป็นเหตุผลที่ฉันรู้สึกขอบคุณพวกเขาเป็นอย่างมากสำหรับการสนับสนุนที่มีให้ฉัน

กุลชา: งานของฉันเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐานดาต้า เซ็นเตอร์ และหน้าที่หลักของฉันคือการออกแบบห้องดาต้า เซ็นเตอร์ ให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ฉันใช้ซอฟต์แวร์การออกแบบที่ฉันเรียนในมหาวิทยาลัยอย่าง SolidWorks และ AutoCAD ซึ่งสนุกมาก ในทีมของฉันมีพนักงาน 5-6 คน รวมถึงวิศวกรที่ทำการบริหารต้นทุนโครงการ บริการ และการขายด้านวิศวกรรม นอกจากนี้ เรายังมีคนที่ทำหน้าที่การตลาดผลิตภัณฑ์ในแผนกของเราด้วย

ในช่วงสองเดือนที่ฉันได้ฝึกงานที่นี่ ฉันได้มีส่วนร่วมในการทำงานกับลูกค้าจริงๆ 2 โครงการด้วยการออกแบบห้องดาต้า เซ็นเตอร์สำหรับลูกค้าที่มีระบบระบายความร้อนเดลต้าประเภทต่าง ๆ เช่น RowCool ระบบระบายความร้อนแบบดาวน์โฟลว์ และไมโครดาต้า เซ็นเตอร์ ที่มีการระบายความร้อนในตัว ส่วนที่น่าสนใจที่สุดของงานนี้สำหรับฉันคือการออกแบบห้องดาต้า เซ็นเตอร์ เพื่อลดการใช้พลังงานให้มากที่สุด ซึ่งสิ่งนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิชาเอกของฉัน

คุณคิดว่าทักษะที่มีค่าที่สุดที่คุณได้รับจากการฝึกงานที่เดลต้า ประเทศไทย คืออะไร และทักษะนี้จะช่วยการทำงานในอนาคตของคุณอย่างไรบ้าง

intern

ลักษิกา: ทักษะที่มีค่าที่สุดที่ฉันเรียนรู้จากที่เดลต้าประเทศไทยคือการสื่อสารที่ดี ในการทำงาน ฉันได้เรียนรู้วิธีการสื่อสารกับคนที่อายุมากกว่าและคนที่มีบุคลิกแตกต่างกัน ในทีมทดสอบมีสมาชิกทั้งหมด 12 คน มีเพียง 2 คนเท่านั้นที่เป็นผู้หญิง เรามีวิศวกรในวัย 20 ต้น ๆ เช่นฉันและวิศวกรคนอื่น ๆ ในวัย 40 ดังนั้น ฉันจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการสื่อสารของตนเองใหม่

บางคนต้องการการเข้าหาด้วยความเคารพและส่วนคนอื่น ๆ สามารถได้หาได้อย่างเป็นกันเอง การเรียนรู้ความแตกต่างนี้เป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้ฉันสามารถเป็นพนักงานที่มีประสิทธิภาพได้ ฉันพยายามที่จะตระหนักถึงสิ่งนี้เมื่อเราหารือกันในที่ประชุมหรือขอคำแนะนำหรือแม้กระทั่งการยืมอุปกรณ์หรือต้องการความช่วยเหลือ

กุลชา: การฝึกงานที่นี่ทำให้ฉันได้พัฒนาทักษะการเข้าสังคม เช่น การสื่อสาร ซึ่งช่วยให้ฉันทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ฉันยังมีความรับผิดชอบมากขึ้นในหน้าที่และงานที่ได้รับมอบหมายในแต่ละโครงการ แม้จะเป็นนักศึกษาฝึกงาน แต่ฉันก็ต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายและถ้าฉันทำงานได้ไม่ดี คนอื่นก็จะทำหน้าที่ของพวกเขาไม่ได้ ดังนั้นฉันจึงต้องทำหน้าที่ของฉันที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด

หัวหน้างานของคุณสนับสนุนการฝึกงานของคุณอย่างไร และคุณเรียนรู้อะไรจากการทำงานร่วมกับผู้อื่น

ลักษิกา: คุณอดิศักดิ์ หรือ แจ็ค หัวหน้างานของฉันคอยให้กำลังใจและสอนงานฉันทีละขั้นตอนและพยายามตอบคำถามของฉันทุกข้อ นอกจากนี้ รุ่นพี่ของฉันได้พาฉันไปที่แผนกวิศวกรรมคุณภาพ (QE) ในอีกด้านหนึ่ง เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการทดสอบพาวเวอร์ซับพลาย ในทีมของเรา เราทำการทดสอบการทำงานของไฟฟ้าเพื่อดูว่าผลิตภัณฑ์ใช้งานได้หรือไม่ แต่ใน QE จะทำการทดสอบสภาพแวดล้อมและความปลอดภัยเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานอุตสาหกรรมและข้อกำหนดของลูกค้า

สิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากหัวหน้างานคือ คุณไม่จำเป็นต้องโต้ตอบกับทุกคนที่ดูถูกคุณ ผู้นำควรมีสติอยู่ตลอดเวลาและมีสมาธิในการทำงานให้ราบรื่นและนำพาทีมไปสู่ความสำเร็จ ในที่ทำงานบางครั้งก็มีอาจมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่บ้าง แต่คุณอดิศักดิ์เป็นคนสบาย ๆ ไม่เคยอารมณ์เสียแม้ในตอนที่คนอื่นกำลังทะเลาะกัน

กุลชา: หัวหน้างานของฉันคือ คุณศักดา ผู้อำนวยการอาวุโสของ CISBU ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาเป็นผู้นำด้านวิศวกรรมและธุรกิจที่ใจดีมากและยังสละเวลามาทำความรู้จักกับฉันแม้ว่าเขาจะยุ่งในการพัฒนาธุรกิจทั่วทั้งภูมิภาค เขายินดีที่จะสอนฉันทุกเมื่อที่ฉันมีคำถาม และทุกคนในทีมพร้อมที่จะช่วยเหลือฉันอยู่ตลอดเวลา

หัวหน้างานของฉันมีบทบาทสำคัญมากในระหว่างการฝึกงาน เพราะเขาอยากแน่ใจว่าฉันได้รับความรู้มากที่สุดเท่าที่จะมอบให้ได้ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ซึ่งทำให้ฉันเข้าใจขอบเขตของงานในแผนกของฉันกว้างขึ้น ในขณะเดียวกัน การทำงานร่วมกับคนอื่น ๆ ในทีมก็ช่วยให้ฉันได้เรียนรู้ทักษะและวิธีคิดใหม่ ๆ ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนาตนเอง

คุณอยากจะแนะนำให้กับนักศึกษาคนอื่น ๆ ในการเตรียมตัวสำหรับการฝึกงานและทำงานในโรงงานอย่างไร

intern

กุลชา: ฉันอยากให้ทุกคนหาให้เจอว่าตัวเองชอบอะไรและชอบงานประเภทไหน ทบทวนความรู้ของคุณให้ดีเสียก่อน เพื่อที่คุณจะได้ใช้เวลาในการทำงานเพื่อพัฒนาทักษะของคุณให้ดียิ่งขึ้น สำหรับการออกแบบดาต้า เซ็นเตอร์ คุณต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์พื้นฐานและมีทักษะด้านไฟฟ้าที่ดี เช่น การเดินสายไฟและการตั้งค่าอุปกรณ์ในพื้นที่

ลักษิกา: ฉันอยากแนะนำให้ทุกคนเปิดใจให้กว้างและทำตัวเองเป็นน้ำครึ่งแก้วอยู่เสมอ คุณอาจได้รับมอบหมายงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาขาความรู้ของคุณ และสงสัยว่าทำไมคุณต้องฝึกงานในสาขานั้น แต่เชื่อฉันเถอะ การเรียนรู้ทักษะในชีวิตจริงดีกว่าไม่รู้อะไรเลย และคุณอาจจำเป็นต้องใช้ทักษะเหล่านี้ในอนาคต

สำหรับคนที่อยากเข้าร่วมทีม R&D คุณต้องเรียนรู้ภาษาการเขียนโปรแกรมพื้นฐานเช่น C#, Python และ Visual Basic เพราะมันจะทำให้การทำงานของคุณง่ายขึ้นมาก หากคุณอย่างน้อยเข้าใจโค้ดที่วิศวกรเฟิร์มแวร์เขียนและสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของมันได้ด้วยตัวคุณเองแทนที่จะต้องรอพึ่งพาคนอื่น ๆ เพื่อแก้ไขโค้ด

คุณคิดว่าจุดเด่นของเดลต้า ประเทศไทยคืออะไร

ลักษิกา: จุดเด่นของเดลต้าคือความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เดลต้าไม่เพียงแต่ผลิตอุปกรณ์จ่ายไฟเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเครื่องชาร์จ EV อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลังสำหรับยานยนต์ พลังงานโทรคมนาคม ฯลฯ ซึ่งทำให้เดลต้าเป็นบริษัทที่โดดเด่น

ศูนย์ R&D หลักอาจเป็นสถานที่ทำงานที่ตรึงเครียด แต่ในห้องทดสอบของเรา ทีมงานมักจะพูดคุยและช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อเรามีปัญหา ฉันเคยไปบริษัทอื่นมาแล้วและรู้สึกว่าเดลต้าเป็นสถานที่ทำงานที่สะดวกสบายที่มีพื้นที่สำหรับการพักผ่อนและสิ่งแวดล้อมสีเขียวที่ให้ความรู้สึกได้สัมผัสกับธรรมชาติอยู่ที่บริเวณล็อบบี้

กุลชา: เดลต้ามีพนักงานชาวต่างชาติจำนวนมากที่ทำงานที่นี่ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของฉันที่จะได้ทำงานร่วมกับผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรม นอกจากนี้ เดลต้ายังมีโครงการสวัสดิการที่แข็งแกร่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทให้ความสำคัญกับพนักงานเป็นอย่างมาก

อะไรคือปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับคุณในการเลือกบริษัทที่จะทำงานหลังจากสำเร็จการศึกษา

ลักษิกา: ฉันไม่ค่อยเป็นกังวลเรื่องขนาดบริษัทเท่าไหร่นัก ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ แต่ฉันให้ความสนใจไปที่หน้าที่ในการงานของฉัน ความรับผิดชอบในการทำงานของฉันคือสิ่งที่ฉันต้องทำทุกวัน ดังนั้น ถ้าฉันไม่ชอบหรือไม่ได้อินกับมัน ฉันก็จะทำมันได้ไม่ดี

ซึ่งในงานวิศวกรรมไฟฟ้า มีหน้าที่เฉพาะทางที่หลากหลาย เช่น การออกแบบ งานเอกสาร การวิเคราะห์ข้อมูล และการทดสอบ ส่วนหน้าที่หลักที่ฉันอยากจะทำคือการวิเคราะห์ข้อมูล

กุลชา: ปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับฉันคือโอกาสในการพัฒนาตนเอง ฉันต้องการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้ฉันสามารถพัฒนาความรู้และทักษะของฉันได้

ฉันต้องการสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีกับเพื่อนร่วมงานที่ดีที่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับงานของเราได้ จิตวิญญาณของทีมแบบนี้จะช่วยกระตุ้นให้ฉันพัฒนาทักษะการปฏิบัติและทักษะการสื่อสารได้อย่างต่อเนื่อง

คุณช่วยแบ่งปันแผนการในอนาคตของคุณได้ไหม และคุณมีแนวคิดที่จะทำให้การฝึกงานดีขึ้นหรือไม่ อย่างไร

intern

ลักษิกา: ฉันเคยเรียนภาษาเยอรมันและตอนนี้ก็อยากเรียนภาษาจีนหรือภาษาอื่น ๆ เพิ่ม นอกจากทักษะทางเทคนิคแล้ว ฉันเชื่อว่าการได้เรียนภาษามากขึ้นจะทำให้ฉันมีโอกาสมากขึ้น

ในอนาคต ฉันต้องการทำงานในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนเพราะฉันหลงไหลในแผงโซล่าร์เซลล์และกังหันลม จริง ๆ ฉันได้งานแล้ว และจะเริ่มงานในเดือนหน้าในฐานะวิศวกรพลังงานหมุนเวียนที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

กุลชา: ฉันสามารถทำให้ประสบการณ์การฝึกงานของฉันมีประสิทธิภาพมายิ่งขึ้นไปอีกโดยการรับคำติชมเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย เพราะการทำแบบนี้ช่วยให้ฉันสามารถรู้จุดแข็งของฉันและหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาจุดแข็งเหล่านั้น

หลังจากจบการฝึกงาน ฉันจะกลับไปเรียนให้จบ และหลังจากสำเร็จการศึกษา หากมีโอกาส ฉันอยากจะสมัครเข้าทำงานกับเดลต้า ฉันต้องการทำงานเป็นวิศวกรออกแบบต่อไปและสามารถทำงานได้ทั้งในประเทศไทยหรือไต้หวัน แต่ฉันชอบทำงานในประเทศไทยมากกว่า

ร่วมฝึกงานด้านวิศวกรรมที่เดลต้า

หากคุณเป็นนักศึกษาวิศวกรรมชาวไทยที่มีความสามารถและต้องการสัมผัสกับความท้าทายขั้นสูงสุดของการวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานหรือโครงการธุรกิจจริงกับลูกค้า สามารถติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Delta International Intern Exchange ได้ที่เพจ Delta Thailand Careers หรือติดต่อ HR ของเราได้ตั้งแต่วันนี้


23 พ.ย. 2565