สมุทรปราการ ประเทศไทย 11 เมษายน 2561 บริษัท - เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ก้าวสู่การเป็นบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายแรกในประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐานการจัดการคุณภาพอุปกรณ์การแพทย์ ISO 13485 โดยมาตรฐานดังกล่าวครอบคลุมถึงห่วงโซ่อุปทานที่รับผิดชอบ ประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระบบจัดการสิ่งแวดล้อม การบริหารระบบโลจิสติกส์และเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งล้วนเป็นระบบสำคัญที่สนับสนุนคุณภาพในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในการนี้ นายคริสโตเฟอร์ เค.เอ็ม. ซี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบริหารวัสดุ นำคณะผู้บริหารจากฝ่ายวิจัยและพัฒนา งานบริหารการจัดซื้อวัสดุ งานดำเนินการผลิต ฝ่ายขายและการตลาด และฝ่ายบริหารคุณภาพ เป็นตัวแทนรับมอบใบรับรองมาตรฐานจาก นายฉัตรวิทัย ตันตราภรณ์ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทูฟ ซุด (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านการรับรองคุณภาพอุตสาหกรรมจากประเทศเยอรมนี
มาตรฐาน ISO13485 เป็นมาตรฐานการจัดการคุณภาพซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดด้านคุณภาพอุปกรณ์ทางการแพทย์ในยุโรป โดยมาตรฐานนี้จะช่วยเสริมความสามารถในการแข่งขันของเดลต้าฯ ในตลาดอุปกรณ์การแพทย์ในตลาดยุโรปและอเมริกา รวมทั้งช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจสู่ตลาดเกิดใหม่ในอาเซียน อีกทั้งการได้รับรองมาตรฐาน ISO 13485 จะช่วยให้บริษัทฯ มีส่วนร่วมสนับสนุนยุทธศาสตร์การยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ในยุค 4.0 เพื่อตอบสนองการเข้าสู่สังคมสูงอายุและดึงดูดผู้ป่วยชาวต่างชาติในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประเทศไทย คาดการณ์ว่าความต้องการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ต่อปี
เดลต้าฯ มุ่งมั่นพัฒนาสู่การเป็นนำในวงการอุตสาหกรรมและเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบของสังคมไทยเพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูงในอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ การได้รับรองมาตรฐาน ISO13485 จึงจะสะท้อนให้เห็นความตั้งใจจริงในการสร้างสรรค์นวัตกรรมในผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นส์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมควบคู่ไปกับการตอบสนองความต้องการทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลก ด้วยมาตรฐานคุณภาพระดับสูงในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานพัฒนาธุรกิจทางการแพทย์ของเดลต้าฯ ทำให้บริษัทฯ ได้มีส่วนร่วมในการตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีในสังคม การพัฒนานวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานในอุตสาหกรรม การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และการร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน